ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบ จากจีน
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน และสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของโลก รายงานตรงกันว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ผลผลิตเหล็กของจีนไม่ได้ลดลงจากปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย
รายงานการผลิตเหล็กดิบ (Crude steel) ซึ่งเป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปตั้งต้นสำหรับการผลิตสินค้าเหล็กทุกประเภท ช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 จีนมีการผลิตเพิ่มขึ้น +1.3% ปริมาณ 319 ล้านตัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ จีนเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการผลิตในเดือน พ.ค. 2563 โดยปริมาณผลผลิตเท่ากับ 92 ล้านตัน นอกจากจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก คือ +4.2% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปี 62 และ +8.5% เทียบกับเดือน เม.ย. 2563 ยังทำให้การผลิตเดือนนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องทุกประเภทที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน แสดงให้เห็นการหดตัวอย่างรุนแรงในทุกกลุ่มไล่ตั้งแต่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม หดตัวรุนแรง ในช่วง -3.1% ถึง -32.1% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร & การก่อสร้าง หดตัวรุนแรง ในช่วง -6.3% ถึง -15.9% บางกลุ่มอาจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ (Car) ที่กลับมาขยายตัว +27% ในเดือนพ.ค. แต่มีอีกหลายกลุ่มยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวเลย เช่น การผลิตเครื่องชักผ้าและเครื่องปรับอากาศที่ในเดือน พ.ค. 2563 ยังหดตัว -8.2% และ -14.7%
ดังนั้น ในสภาวะที่ความต้องการใช้เหล็กของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้บริโภคเหล็กหดตัวรุนแรงระหว่าง -3.1% ถึง -32.1% แต่ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตเหล็กในจีนกลับไม่ลดลงแต่อย่างใด จึงเป็นสภาวะการณ์ที่ผิดปกติ และเป็นความเสี่ยงอย่างมากของอุตสาหกรรมเหล็กประเทศต่างๆ ในโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
จากฐานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันได้อีกว่า จีนมุ่งส่งออกเหล็กแผ่นเคลือบมายังประเทศไทยเป็นหลัก โดยส่งออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเพิ่มต่อเนื่องทุกปี ขึ้นมาสูงสุดในปี 2562 ที่จำนวน 1.88 ล้านตัน หรือ+123% ในระยะเวลา 4 ปี ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 มีการส่งออก 0.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง+63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562และคาดว่าในเดือนพ.ค.นี้จะเพิ่มเป็นทะลุ 1 ล้านตัน
เคยมีการประเมินไว้ว่าในเดือน มีค. 2563 สต็อกเหล็กทุกประเภทของจีนแตะระดับ 100 ล้านตัน + 203% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ สถิติการนำเข้าของไทยในเดือน เม.ย. 2563 พบถึงความผิดปกติของการนำเข้าจากจีน โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสีทาสี (PPGL) ของประเทศไทยในเดือน เม.ย. 2563 รวมทั้งสิ้น 63,188.62 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +62.3% ประเทศหลักที่ผลกระทบต่อความผิดปกติคือ การนำเข้าจากประเทศจีน
การนำเข้า PPGL จากจีนมีปริมาณ 55,106.08 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +79.8% และเป็นระดับการนำเข้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเท่ากับ 87.21% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 75.47% ในเดือน เม.ย. 2561 และ 82.78% ในเดือน เม.ย. 2562 และถือว่าเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศจีนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย
นอกจากสินค้า PPGL ยังมีกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) ของไทยจากประเทศจีนที่มีความผิดปกติในรูปแบบเดียวกัน โดยเดือน เม.ย. 2563 มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 173,156 ตันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันของสินค้าประเภทนี้
จากการนำเข้าของเหล็ก PPGL ที่เพิ่มทะยานขึ้นอย่างผิดปกติ ในเดือน เม.ย. 63 และเป็นลักษณะเดียวกันกับเหล็ก GI ซึ่งทั้ง 2 สินค้าอยู่ระหว่างการไต่สวนมาตรการ AD แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตเหล็กจีนมีพฤติการณ์อาศัยตลาดภายในประเทศไทย มาทำการผลิตสินค้าภายในประเทศจีนเองให้มีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง สวนทางกับภาวะตลาดความต้องการใช้เหล็กของจีนที่หดตัวรุนแรงและยังไม่ฟื้นตัว และทำการส่งออกกลับมาประเทศไทยด้วยปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของการทุ่มตลาดอย่างชัดเจน และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศอย่างมาก