NIA เร่งเปลี่ยนผ่านยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สู่ยุคเศรษฐกิจดาต้า

NIA เร่งเปลี่ยนผ่านยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สู่ยุคเศรษฐกิจดาต้า

     สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยบทบาทของนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่ภาครัฐจำเป็นต้องนำไปปรับใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การช่วยในการตัดสินใจและตรวจสอบข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การพยากรณ์และคาดการณ์สภาวะต่างๆ รวมถึงการนำนวัตกรรมข้อมูลเพื่อเข้าถึงในสิ่งที่ประชาชนยังขาด และสามารถออกมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น ชี้ปัจจุบันแรงขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี ทำให้ความคุ้นชินกับคำว่าเศรษฐกิจดิจิทัล กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งไปสู่คำว่า “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” ซึ่งสิ่งที่หลายองค์กรต้องตามให้ทันก็คือการพึ่งพาอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีมูลค่ายิ่งกว่าทองคำ 

     สำหรับส่วนของ NIA ได้เตรียมใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวผ่านการมองอนาคต วิเคราะห์ศักยภาพผู้ประกอบการ งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อฉายภาพอนาคตและส่งเสริมนวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย

     ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า บริบทการใช้นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีความจำเป็นอย่างมากต่อการทำงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันหลายองค์กรทั้งหน่วยงานกำกับของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเริ่มผลักดันและขับเคลื่อนการทำนวัตกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการสร้างแพลตฟอร์มไทยชนะ ให้บริการประชาชนเช็คอินในสถานที่ต่างๆ พร้อมเก็บข้อมูลความหนาแน่นของคนในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสการเกิดขึ้นซ้ำหรือการระบาดของโรค หรือแม้แต่กระทั่งการนำข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อมาพยากรณ์อนาคตการเกิดโรค พร้อมออกแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว

     นอกจากนี้ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลยังจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐ และหลายองค์กรของรัฐต้องนำมาใช้ในการพัฒนางานคือ

– นำไปใช้ในหน่วยงานด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านความมั่นคง ด้านการบริการประชาชน โดยเฉพาะการเก็บสถิติต่างๆ เพื่อออกคำเตือนหรือบริการประชาชนให้รวดเร็วขึ้น 

– เมื่อรัฐสามารถพัฒนานวัตกรรมข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น จะสามารถทำให้ออกมาตรการเพื่อการเยียวยา หรือพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้รวดเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนทำให้สิ่งที่ไม่เคยเข้าถึงหรือเข้าถึงได้ยาก เข้าถึงกลุ่มประชากรในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น 

– เมื่อนวัตกรรมข้อมูลถูกพัฒนา หรือนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยขจัดอุปสรรคในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่แม้ไม่ได้อยู่ในภาคส่วนเดียวกันทำงานร่วมกันได้มากกว่าที่ผ่านมา 

– ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุนและนำนวัตกรรมข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ และการตรวจสอบข้อมูล เพื่อช่วยให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว 

– ช่วยพยากรณ์ และคาดการณ์สภาวะต่างๆ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างรวดเร็ว

     “ทั้งนี้ คลื่นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อนโลกไปอย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันที่ทุกคนคุ้นชินกับคำว่าเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งไปสู่แนวคิดคำว่า “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่และหลายองค์กรต้องตามให้ทันก็คือการพึ่งพาอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังจะมีมูลค่ายิ่งกว่าทองคำ น้ำมัน และจะกลายเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถนำไปสร้างความมั่นคงและการเติบโตของสิ่งต่างๆ ได้ในระยะยาว” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

     ด้าน ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) กล่าวว่า “นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Innovation) จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอนาคตสังคมกำลังจะก้าวข้ามยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีข้อมูลเกิดขึ้นมาอย่างมากไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลองค์กร ข้อมูลการใช้งาน ข้อมูลด้านพฤติกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายมาเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีภายในองค์กร และการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมารองรับความต้องการหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการมีฐานข้อมูลยังจะทำให้รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้แต่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สาขาระบาดวิทยาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และสาขาสังคม หันมาให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในอนาคตสิ่งเดิมๆ ที่สังคมเคยเผชิญอยู่จะแตกต่างออกไป และเปลี่ยนเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิตหรือที่เรียกว่า “New Normal”

     สำหรับปัจจุบันการนำนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมาใช้ในภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะการแปลงข้อมูลจากอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) เนื่องจากในบางองค์กรยังไม่ได้มีความพร้อมด้านงบประมาณ หรือความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่จะนำไปใช้อย่างจริงจัง ส่วนอีกหนึ่งระยะคือ กระบวนการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการนำข้อมูลแปลงออกมาใช้ประโยชน์แต่ละบริบทเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าใหม่ เช่น การทำแพลตฟอร์มการจัดการในภาวะวิกฤติ เป็นต้น โดยในส่วนของ NIA ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวผ่านการมองอนาคต โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) นำมาใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพของผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ งานวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ดึงข้อมูลทิศทางต่างๆ ที่อาจมีผลต่อนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงสิ่งที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านนวัตกรรม เพื่อนำข้อมูลที่รวบรวมได้ไปปรับใช้กับนโยบาย แนวทางปฏิบัติงาน ต่อเนื่องถึงการส่งเสริมนวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศ พร้อมทำให้ประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ เข้าใจคำว่านวัตกรรมข้อมูล ตลอดจนช่วยวิเคราะห์สิ่งที่เป็นไปได้ในอนาคตที่ทุกคนต้องรับมือ

ที่มา Parker Bridge

NIA เร่งเปลี่ยนผ่านยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สู่ยุคเศรษฐกิจดาต้า
Scroll to top

Pin It on Pinterest